
ความขยันหรือความเกียจคร้านไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรรมพันธุ์ หรือเรื่องเวรเรื่องกรรม แต่เป็นพฤติกรรมที่ได้มาจากการเรียนรู้และการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล แต่ละคนสามารถเลือกที่จะเป็นคนเกียจคร้านหรือเป็นคนขยันได้ บางคนโทษสภาพแวดล้อม โทษอากาศ โทษบุคคลรอบข้าง ฯลฯ เพื่อจะสร้างเหตุผลสนับสนุนตนเองที่เขาขี้เกียจนั้นมีเหตุผลพอรับฟังได้
คนขยันไม่มองดูท้องฟ้า ฝนจะตก แดดจะร้อนหรือหนาว เขาตื่นแต่เช้า ขมีขมันตั้งใจทำงานให้ได้ผลสูงสุดกับเวลาและแรงงานที่เสียไป ความขยันหมั่นเพียรอยู่เคียงคู่กับบุคคลที่มีวินัยในชีวิต ไม่ใช่คนขยันจะรวยทุกคน แต่ที่แน่นอนคนขยันหางานทำไม่มีวันอด และอนาคตไม่มีวันดับ
แต่สิ่งที่คนขยันจะต้องระมัดระวังคือจะต้องแยกให้ออกระหว่างความขยัน ความกระตือรือร้น การเอาการเอางาน กับ ความรีบร้อนซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Haste ในพระธรรมสุภาษิตซึ่งถือว่าเป็นหนังสือแห่งสติปัญญากล่าวว่า “แผนงานของคนขยันนำมาซึ่งผลกำไร เช่นเดียวกับที่ ความรีบร้อนนำมาซึ่งความขัดสน”
สุภาษิต 21:5 คนขยันที่ชาญฉลาดเป็นคนมีความสุขุมไม่ด่วนตัดสินใจด้วยอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของตนเองหรืออารมณ์ของกระแสสังคม หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญจะต้องรีบตัดสินใจ แต่มันตรงกันข้ามยิ่งเรื่องใหญ่และสำคัญมากเท่าใด เราจะต้องไม่รีบร้อนในการตัดสินใจทำเพราะความผิดพลาดหมายถึงความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เราอยู่ในยุคที่ต้องช่วงชิงโอกาส เรามีคนมากมายที่เสนอตัวชี้นำโอกาสที่ดูเหมือนดีสุดยอด คำท้าชวนดูจะแตะใจและเคลื่อนความรู้สึก แต่ช้าก่อนจงมีสติ มีภาษิตสอนใจว่า “วัดผ้าสองครั้งแล้วตัดดีกว่าวัดครั้งเดียวแล้วตัดสองครั้ง” ภาษิตชาวรัสเซียพูดว่า “ก่อนคุณจะกระโดดลงสระขอไปหยั่งเท้าดูก่อนว่ามันตื้นหรือลึกขนาดไหน”
จงเป็นคนขยันแต่อย่าประมาท อย่าเร่งรีบ จงมีสติ